ส่องกลยุทธ์สำนักพิมพ์ โหมเทรนด์ ‘อีบุ๊ค’ รับตลาดแทบเล็ตบูม

การแข่งขันของธุรกิจ”หนังสือ” ในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องปรับตัวรับมือ “สื่อใหม่” ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ ท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยี ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้อ่านหนังสือเล่ม ทำให้บรรดา “สำนักพิมพ์”หลายค่าย ต่างเดินหน้าสร้างสรรค์กลยุทธ์ต่อยอดคอนเทนท์ รวมถึงผสมผสานการใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ เพื่อสร้างฐานผู้อ่านทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์

ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่และความสะดวกสบาย ซึ่งเกิดจากการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆส่งผลให้พฤติกรรมเรื่องการสืบค้นข้อมูล รวมถึงการ “อ่านหนังสือ” เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางประชากรไอแพดขยับเป็น 3 แสนรายในปีที่ผ่านมา ขณะที่ไอโฟนพุ่งกว่า 1 ล้านราย และเทรนด์การใช้แทบเล็ตยังขยายตัวต่อเนื่องนั่นหมายถึง แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ “อีบุ๊ค” ในยุคที่สื่อดิจิทัลกำลังเฟื่องฟู

โดยเฉพาะกลุ่มสำนักพิมพ์รายใหญ่ประมาณ 30 สำนักพิมพ์ จากสมาชิกสมาคมกว่า 500 สำนักพิมพ์ ซึ่งมีความพร้อมด้านการลงทุนได้นำร่องเปิดตัว “แอพพลิเคชั่น” ของสำนักพิมพ์ เปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือผ่านแอพสโตร์ รวมทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย

มองว่าแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอีบุ๊ค จะต้องมีปัจจัยสนับสนุนด้านการพัฒนาคอนเทนท์ในรูปแบบอีบุ๊คของสำนักพิมพ์ต่างๆ การขยายตัวของจำนวน สมาร์ทดีไวซ์ ประเภทแทบเล็ตเกิน 1 ล้านเครื่อง จากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 3 แสนเครื่อง และการพัฒนาโครงข่าย 3G เพื่อสร้างความสะดวกและรวดเร็วในการดาวน์โหลด

ปัจจุบันสำนักพิมพ์ที่ให้บริการอีบุ๊คและมียอดดาวน์โหลดเกิน 1 ล้าน ส่วนใหญ่ยังเป็นการเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีถึง 90% แต่ถือเป็นอีกช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือใหม่ โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมหนังสือเล่มในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าราว 22,800 ล้านบาท แม้ยังไม่สามารถประเมินเม็ดเงินจากตลาดอีบุ๊คได้ แต่ถือเป็นเทรนด์ที่กลุ่มสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลในอนาคต

ทิศทางอีบุ๊คกำลังได้รับความสนใจจากผู้อ่านทั่วโลก เห็นได้จาก “อะเมซอน” ได้ประกาศในเดือน พ.ค.ปีที่ผ่านมา ว่า ยอดขายอีบุ๊คได้แซงหน้าการขายหนังสือเล่มไปแล้ว เชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน เมื่อเทคโนโลยีพร้อม และการครองครอบแทบเล็ต ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับการอ่านหนังสือในรูปแบบดิจิทัลบุ๊ค มีจำนวนมากพอ อีกทั้งอีบุ๊คยังเป็นโอกาสของการขยายตลาดใหม่ๆ ในกับสำนักพิมพ์โดยเฉพาะกลุ่มผู้อ่านในต่างประเทศได้เพิ่มเติม

“ปัจจุบันสำนักพิมพ์ค่ายใหญ่ๆ มีการพัฒนา บิซิเนส โมเดล เพื่อรองรับตลาดอีบุ๊คไว้พร้อมแล้ว เพราะวันนี้ โลกยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว หากตลาดและผู้บริโภคมีความพร้อม แต่สำนักพิมพ์ไม่เตรียมตัวรับมือ ก็จะพลาดโอกาสการเติบโตในธุรกิจนี้เช่นกัน”