ผู้ประกอบการสำนักพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้

ท่ามกลางสถานการณ์การเข้าร้านหนังสือและซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง เห็นได้จากยอดขายร้านหนังสือชะลออย่างมากเมื่อเทียบกับยุคก่อน ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้

“หากหนังสือมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย อาจไปไม่รอด เช่นเดียวกับหนังสือ ที่ไม่วางตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เชื่อว่าขายยากมากในปัจจุบัน แต่หากเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่ม ถือว่ามีโอกาสทางธุรกิจในยุคนี้ ที่สามารถใช้เครื่องมือสื่อดิจิทัลในการสื่อสารตอบโจทย์ความสนใจเฉพาะด้าน”

ในโลกออนไลน์ที่สามารถค้นหาข้อมูลและวิเคราะห์ความสนใจผู้บริโภคได้อย่างง่ายๆ ตัวอย่างเว็บไซต์กูเกิล ที่มีผู้เข้าไปค้นหาข้อมูลผ่านคำค้นต่างๆ ที่อยู่ในกระแส สำนักพิมพ์อาจเลือกดึงความสนใจของผู้คนจากคำค้นยอดฮิต มาผลิตเป็นหนังสือ ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกกว่าในอินเทอร์เน็ต จะเห็นได้ว่าสื่อออนไลน์เป็นอีกช่องทางสำคัญในการพัฒนาคอนเทนท์หนังสือให้น่าสนใจ

นอกจากการพัฒนาคอนเทนท์ทางเว็บไซต์แล้ว สำนักพิมพ์บริษัทยังจัดทำหนังสือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสอบแอดมิชชั่น โดยศึกษาจากความต้องการของนักเรียนนักศึกษาที่พร้อมจ่ายเงินซื้อหนังสือที่สนใจ ทั้งยังอำนวยความสะดวกในการใช้งานและข้อมูล จึงมองว่าหนังสือบางประเภทไม่จำเป็นต้องจัดทำในรูปแบบอีบุ๊คตามกระแส แต่การผลิตหนังสือในรูปแบบใดจำเป็นต้องศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก

“เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเทคโนโลยีทุกเรื่อง หากสินค้าเราน่าสนใจ มีจุดขาย และกลุ่มเป้าหมายชัดเจน โดยอาจเริ่มต้นที่ นิช มาร์เก็ต ก่อนจะพัฒนาสู่ตลาดแมส หากกลุ่มเป้าหมายขยายตัว”

แนวทางด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ยังต้องพิจารณาช่วงเวลาการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละวัย เช่น ช่วงเปิดเทอมกลุ่มวัยรุ่นมักใช้อินเทอร์เน็ตช่วง 2-3 ทุ่ม ส่วนช่วงปิดเทอมจะใช้งานทั้งวัน ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่จะใช้ช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมง และใช้มากที่สุดในช่วงค่ำ ดังนั้นจำต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย

บริบทใหม่ของสำนักพิมพ์ในยุคดิจิตอลในปัจจุบันนี้

การแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดจะมาจากเหล่านักเขียนที่ไม่ต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์อย่างแต่ก่อนและหันมาเผยแพร่ผลงานของตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Amazon , Barnes & Noble และแม้แต่เว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งตรงนี้เองจะเหมือนเป็นการลดบทบาทของสำนักพิมพ์ในโลกยุคหลังการพิมพ์ (post-printing ) หรือไม่

ส่วนทางด้านสำนักพิมพ์เองก็เคลื่อนไหวไปในแนวทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน และเป็นที่ชัดเจนว่า เป้าหมายของพวกเขา คือการรักษาตลาดในปัจจุบันไว้ อย่างไรก็ตามนี่ดูเหมือนจะไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว  มีการเสียส่วนแบ่งการตลาดทีละเล็กละน้อยเพิ่มขึ้นเรือย ๆ และตราบเท่าที่มีผู้อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกตินั้น ยิ่งทำให้สำนักพิมพ์ลดบทบาทและความสำคัญลง

อะไรคือจุดแข็งที่สำนักพิมพ์มีและสามารถทำเงินได้ในบริบทใหม่นี้ิ
ทางเลือกหนึ่งที่น่าเป็นไปได้สำหรับสำนักพิมพ์ก็คือการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเหมือนดังผู้ให้บริการเนื้อหาฟรี หรือจ่ายเงินเมื่อเข้าใช้งาน (pay per use) และบริษัทที่ทำเกี่ยวกับด้านบรรณาธิการ มีหนังสือที่ผู้เขียนตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานด้วยตนเองอยู่จำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในเรื่องการพิมพ์และใช้ภาษาผิดหลักไวยากรณ์  สำนักพิมพ์สามารถเสนอบริการพิสูจน์อักษรและแก้ไขงาน โดยคิดค่าบริการเป็นครั้ง ๆ ไป  และถ้าหากการให้บริการนี้ประสบความสำเร็จ จะมีผู้มาใช้บริการมากกว่าจำนวนคนที่บริษัทมี ตรงจุดนี้สามารถแก้ปัญหาได้โดยการสร้างบริการที่เป็นตลาดกลางแล้วเปิดให้นักพิสูจน์อักษรอิสระสามารถเข้ามาประมูลงานที่ตนเองสนใจจากนักเขียนที่ต้องการผู้พิสูจน์อักษรเช่นกัน ซ่ึ่งทางสำนักพิมพ์เองยังคงสามารถเสนอบริการของตัวเองได้ตามเดิม แต่ในระดับราคาที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป  ซึ่งเมื่อคิดค่าธรรมเนียมพิเศษที่สูงกว่านี้ นักเขียนจะได้รับการประกันคุณภาพว่าพวกเขาจะได้รับบริการที่ดีกว่า เช่น นอกจากการแก้ไขงานแล้วยังมีการสอนในเรื่องลีลาการเขียนเพิ่มเติมอีกด้วย บริการที่สำคัญที่สุดที่สำนักพิมพ์จัดหาให้นั้น คือการคัดเลือกหนังสือและจัดเตรียมหนังสือเพื่อเข้าสู่ตลาด แม้ว่าในขั้นตอนของสำนักพิมพ์นั้นอาจจะไม่สมบูรณ์แบบในการค้นหาหนังสือที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยมันก็ประสบความสำเร็จในการร่อนกรองเอาเรื่องพวกน้ำเน่าที่ไม่สามารถอ่านได้ออกไปดังนั้นชื่อและที่อยู่ของสำนักพิมพ์ที่ปรากฏบนหน้าปกหนังสือนั้นจึงเป็นเหมือนสิ่งที่แสดงถึงระดับของคุณภาพ

การเลือกหนังสือก็เหมือนกับการที่สำนักพิมพ์กำลังผลิตหนังสือของตนเอง สำนักพิมพ์ต้องแก้ไข ผลิตและทำการตลาดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  นี่อาจรวมถึงการพูดคุยกันในบล็อกของบรรณารักษ์ นอกจากนี้การเลือกใช้บริการของสำนักพิมพ์ยังขึ้นอยู่กับหนังสือ ที่รวมถึงการดูแลแบบออฟไลน์ด้วย อย่างเช่น การจัดพิมพ์ การออกร้าน การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ  การโฆษณาและอาจรวมถึงการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักเขียนเพื่อให้ได้สิทธิการจัดการเหนือกว่าคนอื่น

สำนักพิมพ์ต่างก็พากันคิดหาวิธีการขายและแรงจูงใจในการซื้อใหม่ ๆ

ยอดขายหนังสือในสหรัฐฯ และยุโรปไม่ขยับไปไหนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ในขณะที่สำนักพิมพ์ต่างก็พากันคิดหาวิธีการขายและแรงจูงใจในการซื้อใหม่ ๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ให้กลายมาเป็นลูกค้า โดยลืมนึกไปถึงตลาดเกิดใหม่ซึ่งก็คือ “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”

ปัจจุบันมีเด็กจำนวน 250 ล้านคนทั่วโลกที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงหนังสือและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในประเทศอย่าง เฮติ รวันดา และสาธารณรัฐคองโก เป็นเรื่องยากมากที่จะหาโรงเรียนที่มีหนังสือเรียน หรืออาจมีเพียงหนังสือเรียนขาด ๆ เพียงสองสามเล่มต่อนักเรียนหลายร้อยคน น้อยมากที่จะมีโรงเรียนที่มีหนังสืออยู่จนเต็มชั้น โดยเฉพาะประเทศเฮติ มีโรงเรียนน้อยกว่า 15% ที่มีห้องสมุด !

จริง ๆ แล้วโรงเรียนเป็นสถานที่ที่จำเป็นต้องมีหนังสือมากที่สุด หากโรงเรียนไม่มีหนังสือแล้ว เด็ก ๆ จะเติบโตโดยปราศจากความรักในการอ่าน และส่งผลให้ขาดความสามารถในการอ่าน หากมองในภาพรวมแล้วเมื่อไม่มีหนังสือในโรงเรียน ก็ย่อมไม่มีตลาดสำหรับร้านหนังสือ ebook นักเขียน หรือสำนักพิมพ์ด้วยเช่นกัน !!

ต้องขอขอบคุณเทคโนโลยี สำนักพิมพ์ในสหรัฐฯและประเทศที่พัฒนาแล้วมีโอกาสที่ดีกว่าในการเข้าถึงตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา Ebook บวกกับสมาร์ทโฟนราคาถูก เครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ครอบคลุมทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งการมี DRM ที่ช่วยให้สำนักพิมพ์สามารถผลักดันเนื้อหาของตนเองไปยังมุมห่างไกลของโลก

ข้อมูลดังกล่าวทำให้เราต้องคำนึงถึงเนื้อหาที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่สำคัญ

กลุ่มผู้อ่านเนื้อหาภาษาอังกฤษมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่ลักษณะไหน เรื่องแบบไหนและรูปภาพอะไรที่จะสะท้อนเข้าถึงความต้องการของเด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ในสลัมอันห่างไกล ? เรายังไม่รู้เลย เนื่องจากเด็กเหล่า ๆ นี้ไม่เคยได้ยินชื่อ Harry Potter หรือรายการทีวี วิดิโอเกมส์ และ app ที่แข่งขันกันดึงความสนใจในครอบครัวยุคใหม่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว

การวางแผนเปิดธุรกิจสำนักพิมพ์ให้เกิดประโยชน์กับคนที่รักการอ่าน

การวางแผนเปิดธุรกิจสำนักพิมพ์ให้เกิดประโยชน์กับคนที่รักการอ่าน

ธุรกิจสำนักพิมพ์ให้ฟังกันคร่าวๆ จากการสำรวจจำนวนสำนักพิมพ์ในช่วงปี 2546 ถึง กลางปี 2548 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปรากฏว่า ในบ้านเรามีจำนวนสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ 5% ขนาดกลาง 15% ที่เหลือเป็นขนาดเล็ก ข้อมูลนี้ทำให้เราทราบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเป็นจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากนั้น จากการที่ทางสมาคมฯได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้มีประชาชนมางานมหกรรมหนังสือกันอย่างล้นหลามนั้น ผลปรากฏว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด คือ การเป็นศูนย์รวมของหนังสือที่หลากหลาย สิ่งนี้ช่วยให้ธุรกิจหนังสือยังคงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสรุปอัตราการซื้อหนังสือของคนไทยในช่วงปี 2547 เป็นต้นมา พบว่า คนไทยซื้อหนังสือในแต่ละครั้ง เฉลี่ยคนละ 247 บาท ซึ่งราคาหนังสือต่อเล่มส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ย 140 บาท หมายความว่า คนไทยซื้อหนังสือเฉลี่ยคนละประมาณเล่มครึ่ง เราน่าจะกระตุ้นให้คนไทยซื้อหนังสือเพิ่มขึ้นจากเล่มครึ่งเป็นสองเล่ม โดยสำนักพิมพ์ต้องเป็นตัวหลักที่มุ่งผลิตหนังสือที่มีเนื้อหาที่หลากหลาย และมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น แต่ไม่อยากให้มองว่าธุรกิจสำนักพิมพ์คือการแข่งขัน ทางที่ดีเราน่าจะช่วยกันกระตุ้นให้ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์มีทั้งเนื้อหาที่หลากหลายและสร้างสรรค์สังคมด้วย

ทางสมาคมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในวงการหนังสือ รวมทั้งผู้ที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่วงการนี้ ก่อนหน้านี้ ได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรบรรยายหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช AIA มติชน สำนักพิมพ์จุฬา เป็นต้น เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังให้การสนับสนุนSMEs ซึ่งสำนักพิมพ์ในบ้านเราส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจแบบ SMEs ด้วย โดยส่วนตัว ก็เริ่มต้นทำธุรกิจแบบครอบครัว หรือ SMEs มาก่อน ทำมาจนถึงทุกวันนี้รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี โดยเริ่มจากการกวดวิชาก่อน ต่อจากนั้นก็ลงมือเป็นนักเขียนเอง แล้วจึงมาเปิดธุรกิจสำนักพิมพ์ สำหรับผู้ที่ดำเนินรอยตาม คือ อาจารย์นรินทร์ สอนกวดวิชาอยู่ที่ “ฟิสิกเซ็นเตอร์” เป็นต้น ส่วนใหญ่เจ้าของสำนักพิมพ์จะเคยทำงานอยู่ในแวดวงหนังสือ เช่น โรงพิมพ์ องค์กรที่ทำนิตยสาร วารสารต่างๆ เขาสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาทำ Pocket book ได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่ได้อยู่ในแวดวงนี้แล้วจะเปิดสำนักพิมพ์ไม่ได้ ถ้าใครมีความสามารถในการบริหารธุรกิจได้ มีเงินทุน ก็ทำธุรกิจสำนักพิมพ์ได้ โดยปกติแล้ว ภาพรวมของงานสำนักพิมพ์เป็นลักษณะงานที่ทำไม่ยาก ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกมีมากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ถือว่างานสำนักพิมพ์ทำง่ายกว่ามาก สมัยก่อนเคยทำหนังสือ “คู่มือสอบเข้าประสานมิตร วิชาเอกภาษาไทย” ใครจะทำหนังสือเมื่อก่อนต้องไปวางขายที่สนามหลวงเป็นแห่งแรก