ประวัติศาสตร์แวนคูเวอร์

ประวัติศาสตร์แวนคูเวอร์

yaletown-vancouver-canada

แวนคูเวอร์มีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปนานกว่า 4,000 ปีที่แล้วโดยอ้างอิงจากบันทึกทางโบราณคดีที่สันนิษฐานว่ามีชนเผ่าต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ จนกระทั่งปีค.ศ. 1791 จึงได้มีการค้นพบพื้นที่ชายฝั่งแห่งนี้โดย Jose Maria Narvaez ชาวสเปน หนึ่งปีต่อมากัปตันจอร์จ แวนคูเวอร์ ราชนาวีอังกฤษเดินทางผ่านช่องแคบมาถึงดินแดนนี้และตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษดั่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
จนกระทั่งปีค.ศ.1825 จึงมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ โดยดร.จอห์น แมคโลลิน (Dr.John McLoughlin) จากบริษัทฮัดสันเบย์ในแอสโทเรียเล็งเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นย่านการทำธุรกิจที่ดี จึงย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ที่และตั้งเป็นสถานีการค้า Fort Vancouver

ในช่วงปีค.ศ.1861 ผู้คนพากันหลั่งไหลเข้ามาในแวนคูเวอร์เนื่องจากเป็นยุคตื่นทอง โดยมีผู้อพยพมากกว่า 25,000 คนเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำเฟรเซอร์ และมีชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานในปีต่อๆ มาที่ฟาร์ม McLeery ทางตะวันออกของ Marpole อุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรกโดยกัปตันเอ็ดเวิร์ด แสตมป์ ได้สร้างโรงเลื่อยขึ้นบริเวณขาเข้าบนชายฝั่งทางตอนใต้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องยาวนานกับอุตสาหกรรมป่าไม้จนล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 20

ย่านชุมชนเมืองเก่า หรือ แกสทาวน์ (Gastown) เดิมถูกเรียกว่าแกรนด์วิลล์ (Granville) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งเป็นชุมชนแห่งแรกของเมือง พื้นที่บริเวณนี้ถูกพัฒนาและเติบโตจากการเริ่มต้นของนักบุกเบิกยุคแรก Jack Deighton โดยสร้างที่พักขนาดเล็กเพื่อบริการแก่ผู้ที่แวะเวียนสัญจรผ่านมาซึ่งสร้างถัดจากโรงเลื่อย Hastings Mill ด้วยความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งและอ่าวธรรมชาติที่โอบล้อมทำให้ที่นี่ถูกเลือกเป็นปลายทางสำหรับเส้นทางเดินรถไฟข้ามทวีปสายแคนาดาแปซิฟิก

เมืองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงไปรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกาในปี 1907 ไม่กี่ปีต่อมามีการสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโคลัมเบียและสะพานที่ใช้ข้ามภายในรัฐซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 1917

แวนคูเวอร์ประสบกับคลื่นการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อชาวยุโรปจำนวนมากตัดสินใจเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่โดยถูกดึงดูดจากความงดงามทางธรรมชาติและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมือง แวนคูเวอร์ได้รับความนิยมสูงขึ้นในปี 1986 หลังประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo